ประวัติสมาคม
ปีพุทธศักราช 2472 แผนกฝึกหัดครูมัธยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเป็นต้องมีโรงเรียนและนักเรียนสามัญเอาไว้ให้นิสิตแผนกฝึกหัดครูมัธยม ทำการฝึกหัดสอนและสังเกตธรรมชาติของเด็ก เพื่อหาความรู้ความชำนาญ คือ สาธิต (Demonstration) หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “โรงเรียนสาธิต” แต่การก่อตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ และจะให้มีนักเรียนมัธยมหลายชั้นเต็มห้องเรียน ในทันทีย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนด้วยความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเปิดโรงเรียน เพื่อเร่งผลิตครูวุฒิสูง ตามนโยบายการศึกษาของชาติ กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศีกษาธิการ) จึงดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนให้มีนักเรียนเต็มขั้นหลายห้องเรียนได้โดยวิธีลัด คือ สั่งให้ยุบ โรงเรียนวัดหัวลำโพง ถนนพระราม 4 แล้วเอาครู นักเรียน ภารโรง และอุปกรณ์การเรียนทุกชนิด มาตั้งเป็น โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นที่ตึก “หอวัง” ถนนพระราม 1 มีชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สำหรับนักเรียนหญิงให้เรียนต่อจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อสอบได้แล้วจึงให้ออก ส่วนนักเรียนชายให้เรียนต่อถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
วันที่ 17 พฤษภาคม 2472 เป็นวันเปิดสอนวันแรกของ โรงเรียนมัธยมหอวัง ฯ นักเรียนจากศาลาวัดหัวลำโพง จึงได้เข้าเรียนในตึกแปดเหลี่ยมพื้นหินอ่อนวังเจ้าฟ้า ซึ่งมีบริเวณสนามกว้างใหญ่ มีสระบัวอันสวยงาม ถนนเข้าโรงเรียนยาวโรยหิน มีต้นจามจุรีสองฟากถนนร่มรื่น ด้านหลังโรงเรียนมีหอพักของนิสิตแผนกฝึกหัดครูมัธยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 4 หลัง และสนามเทนนิส เป็นบรรยากาศที่ดีและทันสมัยที่สุดของโรงเรียนในยุคนั้น และนับเป็น โรงเรียนสาธิต แห่งแรกของประเทศไทย
โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถูกยุบเลิกไปเมื่อปีพุทธศักราช 2486 เพื่อใช้สถานที่เป็นที่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ตามแผนการศึกษาของชาติในเวลานั้น เป็นเวลา 20 กว่าปีที่พวกนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ ได้แยกย้ายกันไปจนเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อมา ประกอบอาชีพตามความรู้ความสามารถ แต่ก็ยังมีความระลึกถึงกันอยู่เสมอ เพราะความสนิทสนมในวัยเด็ก และมีโอกาสพบปะกันบ้างตามโอกาสและเวลาที่เหมาะสมหลายครั้งหลายหน โดยมากเป็นเพื่อนร่วมรุ่น จึงมีจำนวนไม่มากนัก เพียงครั้งละ 5-10 คน และทุกครั้งที่มีการพบปะกัน ก็มีความประสงค์อยากตั้งสมาคมนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ ขึ้นให้ได้
ปีพุทธศักราช 2503 พันโท ปวัฒวงศ์ หุตะเสวี พันโท อัมพร ศรีแสง (ยศในขณะนั้น) ได้เชิญครูและนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ ร่วมประชุมและรับประทานอาหารกันที่ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ป.ต.อ.) เกียกกาย โดยมีครูจรูญ เสตะรุจิ และครูลำภู ชวานนท์ กับคณะนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ ประมาณ 50 คน เข้าร่วมประชุมและสังสรรค์ จากผลการประชุม พันโท อรุณ ทวาทศิน (ยศในขณะนั้น) และนายแพทย์สม อิศรภักดี ได้สรุปความเห็นว่า ควรจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่ามัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นให้ได้ แม้โรงเรียนมัธยมหอวัง ฯ จะถูกยุบเลิกไปแล้วก็ตาม
วันที่ 21 สิงหาคม 2504 นักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ ได้นัดประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ที่บ้านครูจรูญ เสตะรุจิ มีนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ เข้าร่วมประชุม 75 คน โดยมี พันเอก เชวง ยังเจริญ (ยศในขณะนั้น) เป็นหัวหน้ากลุ่มนักเรียนเก่า และครูลำภู ชวานนท์ ผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นหัวหน้ากลุ่มครู การประชุมครั้งนั้นมีผลสรุปได้ว่า สถานที่ตั้งสมาคม ฯ อาจารย์สงวน เล็กสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ครูเก่าโรงเรียนมัธยมหอวัง ฯ) รับที่จะหาที่ตั้งให้ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2504 นักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ ได้นัดประชุมและสังสรรค์กันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ภายในบริเวณงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนประจำปี ๒๕๐๔)โดยมีนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ ไปร่วมประชุมและพบปะสังสรรค์กันมากถึง 125 คน โดยอาจารย์สงวน เล็กสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้กรุณาจัดสร้างศาลาท่าน้ำ ห.ว. ให้บริเวณริมสระหลังตึกมัธยมหอวัง ภายในงาน นายสมมาตร เทพินทรกุล ได้นำรายชื่อและที่อยู่ของนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ จำนวน 250 ชื่อ มามอบให้กับผู้ร่วมงานด้วย และที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายธีรบูลย์ จรรยามั่น นายชิน ชุมรุม นายพีทรัพย์ สรรวิริยะ และนายประจวบ โพธิ ไปร่วมกันร่างข้อบังคับสมาคมนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง และนัดประชุมกันอีกครั้ง ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนประจำปี 2505 วันที่ 2 ธันวาคม 2505 ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2505 วันที่คณะนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ นัดประชุม ณ บริเวณงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนนั้น นักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ จำนวน 75 คน กลับต้องเปลี่ยนสถานที่ประชุมฯ ไปที่วัดมกุฎกษัตริยาราม เพื่อเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ อาจารย์สงวน เล็กสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อดีตอาจารย์โรงเรียนมัธยมหอวังฯ ซึ่งถึงแก่กรรมโดยปัจจุบัน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505 ถือได้ว่านักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ ได้ขาดท่านผู้เป็นหลักสำคัญในการจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่า ฯ ไปอย่างน่าเสียดาย นำความเศร้าเสียใจมาสู่นักเรียนเก่าทุกคนที่ไปร่วมงาน แต่อย่างไรก็ตาม นายธีรบูลย์ จรรยามั่น นายชิน ชุมรุม นายประจวบ โพธิ และนายชิต ชินพัฒน์ ได้นำร่างข้อบังคับสมาคมนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง ฯ มาแจกจ่ายให้กับผู้มาร่วมงานในคืนนั้นด้วย เพื่อให้นักเรียนเก่า ฯ ทุกคนร่วมกันพิจารณา และนัดหมายกันเพื่อจัดตั้งสมาคม ฯ ให้สำเร็จต่อไป
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2507 คณะนักเรียนเก่ามัธยมหอวัง จำนวน 50 คน และอดีตครู-อาจารย์อีก 5 ท่าน นำโดย ครูจรูญ เสตะรุจิ พลตรี เชวง ยังเจริญ นาวาเอก สว่าง ขันธ์นะภา นายชิน ชุมรุม นายพีทรัพย์ สรรวิริยะ ได้ร่วมประชุมกันที่ตึก 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยได้รับความอุปการะจาก อาจารย์บุญเลื่อน เครือตราชู ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คนใหม่ ได้จัดประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร สมาคมนักเรียนเก่ามัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเป็นชุดแรก เพื่อดำเนินการบริหารงานต่อไป
ฉะนั้น สมาคมนักเรียนเก่ามัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2507 และทำพิธีเปิดป้ายสมาคม ฯ ขึ้น ณ ตึก 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อเสาร์วันที่ 3 ธันวาคม 2509 เวลา 10.30 น. โดยมี ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธี ฯ
ภายหลังเมื่อนักเรียนเก่ามัธยมหอวังฯ ได้จัดตั้ง โรงเรียนหอวัง ขึ้นใหม่ โดยยุบ โรงเรียนบางเขนวิทยา ไป จึงได้ย้ายที่ทำการสมาคมฯ จากตึก 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มายังโรงเรียนหอวัง ลาดพร้าว เมื่อปีพุทธศักราช 2513